สงสัยพิธีบวงสรวงของหลวงพ่อ
โดยหลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง
ผู้ถาม :- “เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ได้เห็นพิธีบวงสรวงของหลวงพ่อ อยากกราบเรียนถามว่าทำไมจึงต้องมีพิธีบวงสรวงครับ…?”
หลวงพ่อ :- “เราเรียก พิธีบวงสรวง ตามศัพท์ไสยศาสตร์นะ แต่ความจริงมันไม่น่าจะเรียกว่าบวงสรวง จะเรียกชื่ออื่นคนก็ไม่รู้จัก”
ผู้ถาม :- “ควรจะเรียกว่าอะไรดีล่ะครับ…?”
หลวงพ่อ :- “อันนั้นล่ะคือ “การเชิญเทวดา” บวงสรวงคือเชิญท้าวจาตุมหาราชพร้อมทั้งอินทกะและบริวาร แต่พิธีนี้ไม่ใช่พิธีที่เราจะสร้างขึ้นมาได้เอง คือว่าสมัยหลวงพ่อปานท่านเริ่มทำการก่อสร้าง ท้าวเวสสุวรรณกับอีก ๓ องค์มาหาท่านในขณะที่เจริญพระกรรมฐาน บอกว่าท่านทำงานนี้เป็นบุญเป็นกุศล ผมขอโมทนาด้วย ถ้ามีงานสำคัญเกิดขึ้นขอให้บวงสรวงด้วยวิธีนี้
ท่านบอกแม้แต่คำสวด คำสวดบทมหาสมัยในตอนท้าย “อภิกามุง ภิกขูนัง” ท่านตัดออกเอา “อัฏฐังสุ” แทน แล้วก็ของทุกอย่างท่านสั่งทั้งหมด และของที่มีอยู่ให้ทำตามนั้น แล้วก็จะมาช่วยงาน เป็นอันว่าเชิญเทวดาท่านมารับทราบ แล้วก็จะขอร้องให้ท่านช่วย มันอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก พิธีนั้นถ้าทำขึ้นมาถ้ามีอะไรควรรู้ท่านจะบอก ที่สวดไปแล้วก็นิ่งประเดี๋ยวหนึ่งน่ะคุยกัน”
ผู้ถาม :- “อ๋อ…นึกว่าน้ำลายติดคอ!”
หลวงพ่อ :- “ไอ้น้ำลายน่ะปกติมันติดคออยู่แล้วนะ ถ้าน้ำลายไม่ติดคอก็ไหลไม่ถึงปาก ใช่ไหม…”
ผู้ถาม :- “โอ…ไม่จนเลยนะ”
หลวงพ่อ :- “จะจนได้ยังไง นั่งอยู่มีคนมาให้เรื่อยๆ”
ผู้ถาม :- (หัวเราะ) “ใช่ๆ จนไม่มี… “
หลวงพ่อ :- (หัวเราะ) “ใช่…ถ้าจนก็ไม่มี!”
ผู้ถาม :- “เป็นอันว่าบวงสรวงนี้ควรจะเรียกว่า “เชิญเทวดา” นะครับ”
หลวงพ่อ :- “ใช่…คือท่านมาบอกพิธีกรรมเอง และก็บอกคาถาบทสวดเอง แล้วบอกว่าถ้าทำตามนี้ผมจะมา และท่านก็มาจริงๆ ต่อมาฉันก็เรียนต่อจากหลวงพ่อปาน ก่อนจะเรียนต่อ หลวงพ่อปานท่านก็ถามท้าวเวสสุวัณก่อนว่า รับหรือไม่รับ ถ้ายอมรับก็ทำพิธีนี้ได้ ถ้าไม่ยอมรับเราทำพิธีนี้ก็ไม่มีผล ท่านไม่ช่วย ทานก็บอกยอมรับ รับก็ทำต่อมาได้”
ผู้ถาม :- “อย่างหลวงพ่อขึ้น “ปุริมัญจะ ทิสัง ราชา” อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านจะเสด็จไหมครับ…?”
หลวงพ่อ :- “ถ้าใจเรานึกถึงล่ะ ขึ้น “สัคเค” ทีไร นึกถึงท่านก็เห็นทุกที คือว่าคาถาอะไรก็ช่าง อยู่ที่ใจเราต่างหาก ที่ว่าน่ะว่าตามพิธีกรรมเฉยๆ แต่ถ้ามุ่งแค่สัคเคก็มีผลน้อยเกินไป ทีนี้ใจเรานึกถึงใคร องค์นั้นท่านก็มา คือพูดเป็นสัญญลักษณ์เท่านั้นเอง”
ผู้ถาม :- “อย่างองค์เป็นๆ จะมาไหมครับ?”
หลวงพ่อ :- “จะเชิญน่ะเรอะ”
ผู้ถาม :- “ระลึกถึงน่ะครับ”
หลวงพ่อ :- “ได้…”
ผู้ถาม :- “โอ…น่ากลัวเมื่อยแย่เลยองค์เก่งๆ นะ”
หลวงพ่อ :- “ถ้าอยากนึกก็นึกไป ข้าไม่เกี่ยวเสียอย่าง แต่เขาไม่เหนื่อยหรอก เขาไม่ได้ใช้อะไรนี่ ใช้แสง “เค้ากวง” นิดเดียวไม่เหนื่อยเลย คือสามารถจะเห็นได้ จะคุยกันได้ แต่ตัวเขาอยู่ที่เดิมนั่นแหละ ผีมาแทน!”
ผู้ถาม :- “อ้าว…ก็ของปลอมน่ะซีครับ”
หลวงพ่อ :- “ไม่ปลอม ผีแท้มา!”
ผู้ถาม :- “เอ…ไม่เข้าใจครับหลวงพ่อ”
หลวงพ่อ :- “ถ้าใช้กำลังของอภิญญาในวินาทีเดียวกัน คนกี่แสนล้านคนต้องการพบก็พบได้ ต่างคนต่างคุยในเรื่องของตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าแต่ละคนคุยแล้วคุยแบบเดียวกันหมด ไม่ใช่อย่างนั้น นั่นมันเป็นเรื่องของอภิญญานะ
การใช้แสงเค้ากวง ก็คือ “รัศมีกำลังบุญ” แผ่คลุมได้ทันที อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ฉัพพรรณรังสีนั่นแหละ มี ๖ สี พระสาวกมีไม่ถึง แต่เขามีกี่สีไม่สำคัญเขาใช้ได้เหมือนกัน แต่ทำไม่ได้เท่าพระพุทธเจ้า ถ้าเท่าพระพุทธเจ้า เรานั่งอย่างนี้ ถ้าต้องการให้เราพบเราจะพบเหมือนกับท่านนั่งข้างหน้าแล้วคุยเลย พระพุทธเจ้ากำลังสูงมาก พระสาวกทำไม่ได้ ทำได้อย่างเดียว คือมาแบบผี แต่ว่าคนสามารถเห็นผีได้ก็เห็นได้เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าไม่ใช่อย่างนั้น ขนาดเห็นเป็นองค์ท่านเลย”
ผู้ถาม :- “ลักษณะเป็นยังไงครับ…?”
หลวงพ่อ :- “รูปเดิมของท่านแหละ”
ผู้ถาม :- “เป็นมนุษย์หรือครับ…?”
หลวงพ่อ :- ก็เป็นมนุษย์นั่นแหละ อย่าง พระวักกลิ จะโดดเขาตายยังไงล่ะ ท่านเปล่งฉัพพรรณรังสีไปข้างหน้า เหมือนพระองค์นั่งข้างหน้าเลย ท่านตรัสว่า “บุคคลใดเห็นธรรม บุคคลนั้นเห็นเราตถาคต” ท่านตรัสเท่านี้พระวักกลิเป็นอรหันต์เลย และท่านก็ทำเรื่อยๆ นะ ไม่ใช่เฉพาะองค์นะ
อย่างตอนเช้ามืดวันหนึ่ง พระมหากัสสป ตื่นขึ้นมาก็คิดว่า การดูอุปนิสัยของสัตว์ พระพุทธเจ้าองค์เดียวย่อมเหนื่อยมาก เราเป็นสาวกควรจะช่วยบ้าง ไม่ใช่กำลังของพระสาวกทำก็หนักเหนื่อย พระพุทธเจ้าก็ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี ท่านอยู่ห่างกันมาก
พระมหากัสสปอยู่ ปิปผลิคูหา ก็เห็นเหมือนพระองค์นั่งอยู่ข้างหน้าตรัสว่า “งานนี้เป็นงานของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่งานของพระสาวก เธออย่าทำเลย ตถาคตไม่เหนื่อยหรอก เป็นงานเฉพาะ”
พระมหากัสสปท่านมีความกตัญญูสูงแล้วก็ท่านทำเป็นปกติ ทีนี้เวลาพวกเราขึ้นไปพบพร้อมๆ กันก็เหมือนกัน นั่นเป็นฉัพพรรณรังสี ตอนก่อนๆ ฉันก็เกรงใจท่านไม่ค่อยอยากจะพบท่าน พระพุทธเจ้าไม่ควรจะแตะต้องมากเกินไปใช่ไหม…
มีวันหนึ่งขึ้นไปพบ ท่านบอกว่า “คุณไม่ต้องวิตกกังวลหรอก ไม่ต้องกลัวบาป ฉันไม่เหนื่อยอะไร ถ้าแกคิดถึงฉันเมื่อไหร่ แกไปถึงวิมานของฉันนั่นแหละฉันแน่” ถ้าเห็นตามทางไม่ใช่แน่เป็นฉัพพรรณรังสี แต่มีผลเสมอกัน”
ผู้ถาม :- “พูดจารู้เรื่องกันได้เหรอครับ…?”
หลวงพ่อ :- “เท่ากันแหละ ต่างคนต่างพูดเรื่องของตัวไงล่ะ อย่างคนหนึ่งต้องการกะปิ…คนหนึ่งต้องการเกลือ…ต้องการพริก ต้องการหอม ในเวลาเดียวกันได้รับคำตอบเหมือนกัน คือว่าต่างคนต่างพูดได้ นั่นเป็นด้วยกำลังบารมี
ความจริงเขาบอกมีอะไรก็ถามพระพุทธเจ้า เราก็นึก เอ…พระพุทธเจ้าองค์เดียวดีไม่ดีต้องไปรอคิวถามแย่นะ ท่านเลยบอกว่า ถ้าเป็นสาธารณะทั้งโลกต้องการเห็นในวินาทีเดียวกันก็จะเห็นพร้อมกัน ใครต้องการเรื่องอะไรก็คุยเฉพาะเรื่องของตัวไป ฉันเลยเบาใจ ถ้าท่านไม่บอกเองก็แย่เหมือนกัน”
ผู้ถาม :- “ก็แสดงว่าที่พบกันได้เยอะแยะ อย่างนี้ก็อาศัยฉัพพรรณรังสี”
หลวงพ่อ :- “ก็มีผลเสมอกัน พบองค์ท่านหรือพบฉัพพรรณรังสี ก็มีผลเสมอกัน คือผลต้องการอะไร ถ้าหากเราถามว่า การปฏิบัติของเรานี่ยังบกพร่องอะไร ควรจะปฏิบัติจุดไหนก่อน ท่าจะบอกมาอย่างสั้นๆ ให้เข้าใจ
ความจริงผู้ที่สามารถพบพระองค์ได้นี่มีบุญมาก สมัยก่อนเขาเรียกปฏิบัติพระกรรมฐานเขาถือว่า ถ้าพบอาจารย์ที่เป็นมนุษย์ ยังไม่ได้ปฏิบัติพระกรรมฐานแท้ ต้องปฏิบัติให้ได้อาจารย์ที่ไม่ใช่มนุษย์ ก็เลยปลุกปล้ำแทบแย่ ปลุกปล้ำมากเกินไปใช้กำลังมากเกินไป ก็ไม่พบอีกเหมือนกัน
ทีนี้เมื่อพบท่านแล้ว ข้อวัตรปฏิบัติเราควรจะถามท่าน ถ้าขึ้นไปถึงท่าน จุดบกพร่องยังมีอยู่ในการตัดกิเลส เวลานี้เราควรจะทำอะไรก่อนท่านก็จะบอกมา ท่านบอกมาแล้วเราก็ปฏิบัติตามนั้น เราจะเปลี่ยนต่อไปเมือท่านสั่งเปลี่ยน ฉันก็โดนหลายหนเหมือนกัน ท่านสั่งเปลี่ยนแล้วก็ลอง ขี้เกียจเปลี่ยน เปลี่ยนใหม่ก็ขลุกขลัก อารมณ์ก็ไม่เรียบใช่ไหม…ท่านบอกแล้วทำได้ประเดี๋ยวก็กลับทำแบบเดิมใหม่ เสียงตวาด “กูบอกมึง ไม่เอาเรอะ” ภาษาไทยเดิม ต้องทำตามนั้น
ถ้าระยะใกล้ (มรรคผล) เข้าไป ท่านจะกำหนดวัน อย่างนี้ต้องทำให้ได้ภายในกี่วัน อันดับแรกที่สุดท่านจะบอก บารมี ๑๐ ต้องครบถ้วน เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก
บารมี ๑๐ นี้ใช้กำลังให้ครบถ้วน กำลังใจนะ ถ้าตัวนี้ครบถ้วน ทุกอย่างมันก็คล่องตัวหมด ก็มีตัวสำคัญอย่าง วิริยะบารมี นี่สู้แหลก ใช่ไหม…ขันติบารมี อดทน ยังไงก็ต้องสู้กันละ ถ้าเป็นนักสู้ถ้าขาดความอดทนก็สู้ไม่ไหว อดทนอย่างเดียวถ้าไม่สู้ก็ไปไม่ไหว ทีนี้บารมีทั้ง ๑๐ ต้องครบถ้วน กำลังใจต้องครบถ้วนตามนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันจะไม่ยาก
แต่ก็ยากตอนต้น ยาก สังโยชน์ ๓ เพราะเป็นของใหม่ ยากเท่านั้นเอง ถ้าผ่านนี้แล้วไม่ยาก อารมณ์ทรงตัวแล้ว แบบบ้านเขาปลูกอยู่เขามีบันใดใช่ไหม…ถึงชานบ้านได้แล้วก็เรื่องเล็ก จะเข้าห้องไหนล่ะ…เข้าห้องนอน…เข้าห้องครัว…เข้าห้องส้วม ก็เลือกเอาตามสบาย”
ผู้ถาม :- “ที่หลวงพ่อแนะนำเรื่อง สักกายทิฏฐิ พิจารณาว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา พอมาสายลมยังพอได้ พอกลับบ้านตรงกันข้ามเลย มองไม่เห็นเลย”
หลวงพ่อ :- “ไม่ใช่ตรงกันข้าม ยังมองเห็นกันนะ”
ผู้ถาม :- “แหม…มันน่าจะทรงไปตลอดๆ นะ”
หลวงพ่อ :- “ก็ไม่ได้ซี ดีไม่ดีเดี๋ยวแม่อีหนูเป็นม่ายจะเดือดร้อนนะ เอาอย่างนี้ซี ถ้าเราได้ไปชั่วขณะ ก็ต้องถือว่าเป็นบุญใหญ่ใช่ไหมล่ะ ไอ้ตัวชั่วขณะหนึ่งนี่ก็สลายไปใช่ไหม…ทีนี้ถ้าช่วงจะหลับหรือก่อนนอนมันได้อีกนิดก็ใช้ได้หรือว่าตื่นใหม่ๆ
ความจริงการเจริญพระกรรมฐาน ไม่จำเป็นต้องลุกมาทำเสมอไป ถ้าร่างกายมันไม่ดี มันปวดเมื่อยก็ไม่ต้องลุกมา ไม่ต้องลำบาก เวลานั้นจิตจับ ๒-๓ นาที ให้ตัดแบบนั้นแหละ กรรมฐานนั่งนอนยืนเดินเขาไม่ได้ห้าม
ทีนี้ถ้าหากว่า เราติดอุปาทานเกินไป “ทำกรรมฐานต้องนั่ง” ถ้านั่งมันเครียดก็ต้องเปลี่ยน การนั่งก็เหมือนกัน ถ้านั่งอยู่คนเดียวที่บ้านก็นั่งตามสบาย นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ นั่งพิงเก้าอี้ก็ได้ นั่งเอนกายก็ได้ ให้กายมันสบายเสียก่อน เป็นมัชฌิมาปฏิปทาด้วย พระพุทธเจ้าตรัสว่า จงละส่วนสุด ๒ อย่าง
๑.กามสุขัลลิกานุโยค
๒.อัตตกิลมถานุโยค
อัตตกิลมถานุโยค ทรมานกายเกินไป เห็นไหม…ไอ้นั่งปวดเมื่อยไม่ขยับมันทรมานกายเกินไป ใช้ไม่ได้
กามสุขัลลิกานุโยค อยากได้เกินไป กามสุขัลลิกานุโยค ไม่ใช่กามารมณ์ อย่างผู้หญิงต้องการผู้ชาย ผู้ชายต้องการผู้หญิง ที่เขาแปลไว้มันก็ไม่ผิดหรอก
แต่เวลาทำกรรมฐาน นั่งท่านั้นไม่ดีก็เปลี่ยน ท่านี้ไม่ชอบใจก็นอนหรือยืนหรือเดิน คือว่าถ้าจิตยังไม่ทรงฌาน ถ้าไปฝืนมันก็เจ๊ง ถ้าขามันปวดเมื่อยมันไม่ภาวนาหรอก ปวดหนอๆๆ แรกๆก็ปวดหนอ นานไปก็ปวดโว๊ยๆ มันก็ไปเสร็จตรงนั้น ผลมันก็ไม่ได้ ใช่ไหม…”
ผู้ถาม :- “ดีไม่ดีเป็นโรคประสาทไปเลย”
หลวงพ่อ :- “ใช่ ครูผู้สอนก็เหมือนกัน ไม่ฟังพระพุทธเจ้าท่าน ความจริงอาตมาอยากแนะนำให้นอนมากๆ สบายดี ของอาตมากรรมฐานนี่มาจากการนอน ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ที่รองลงมาก็คือเดิน ๒ อย่างนี่มาก
ตอนกลางคืนเราตื่นตั้งแต่ตีหนึ่งครึ่งกว่าๆ ใช่ไหม…ทำวัตรสวดมนต์อย่างย่อเสร็จตี ๒ ค่อยเจริญพระกรรมฐาน ตี ๔ ดูหนังสือ พอสว่างไปบิณฑบาต กลับมาฉัน ทำวัตรเช้า เข้าป่าช้า ได้เวลาก็เจริญพระกรรมฐานชั่วครู่หนึ่ง ครู่หนึ่งนี่ต้องจิตเป็นสุขพอควร ไม่งั้นไม่เลิก อาจจะมีการพักผ่อนบ้าง
บางทีฉันเพลเสร็จ ก็ทำงานหรือไปเรียนหนังสือ ถ้าเวลาเลิกจากเรียนหนังสือ ถ้ามีเวลาก็ก่อสร้างวัด วันทั้งวันเราหนัก ทีนี้ต้องเข้าใจว่าร่างกายมันเพลียมากใช่ไหม…
ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานจริงๆ ถ้านั่งทำไม่ไหว ก็นอนทำสบายๆ ยังไม่ง่วงนอนมากเกินไปก็นั่ง มากเกินไปก็ไม่ดีต้องเดิน เดินจงกรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมฐานกองใดได้จากการเดินจงกรม กรรมฐานกองนั้นไม่มีการเสื่อม ไม่เสื่อมแน่นอน ขอยืนยัน พระพุทธโฆษาจารย์ ท่านรจนาในวิสุทธิมรรค ท่านยืนยันไว้ และก็ลองทำก็จริงตามนั้น
ฉะนั้นกรรมฐานทุกกองที่ได้มาต้องผสมจงกรมหมด ถ้าจงกรมแล้วรู้สึกภาพมันดีมาก จับเป็นอนุสสติกรรมฐานชัดเจนมาก บางทีเดินเผลอๆไป เดินตั้งแต่ ๒ ทุ่ม นาฬิกาตีเป๊ง ตีหนึ่ง อ้าว…ไม่ต้องนอนกันละ มันจะไม่นอนซี เวลานอนต้องเป็นเวลา
แต่ว่าชาวบ้านจะเอาอย่างพระไม่ได้นะ ต้องทำมาหากิน เรื่องเวลานี่ต้องเหมาะสม อย่างนั้นไม่เครียด ถ้าเป็นอย่างนั้น กลางวันเราก็นอน ถ้านอนด้วยกำลังของสมาธิคุมตัวจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาอะไรก็ตามเถอะ นอนแค่ชั่วโมงเดียวมันจะคุ้มเลย เพราะจิตพักผ่อนเต็มที่”
ผู้ถาม :- “แสดงว่าหลวงพ่อบวชใหม่ๆ นี่เปรี๊ยะเลย!”
หลวงพ่อ :- “ไม่เปรี๊ยะเลย ไม่ได้ตีกับใครเลย””
ผู้ถาม :- “ดูไม่ค่อยจะมีเวลาว่างเลย”
หลวงพ่อ :- “ไม่ปล่อยมันนี่ เพราะเราเข้าไปบวชเพื่ออะไรล่ะ”
ผู้ถาม :- “อย่างนี้ก็ไม่ถูกหลักที่โบราณเขาว่า เช้า-เอน, เพล-นอน, บ่าย-พักผ่อน, เย็น-จำวัด”
หลวงพ่อ :- “เออ…ดีมาก พระยายมบอกดีมาก ฉันไม่ต้องจดมาก…โลกันต์จ๊ะ!”
ผู้ถาม :- “โอ…อยู่ที่โลกันต์เลยหรือครับ…?”
หลวงพ่อ :- “โลกันต์มีความสุข เครื่องปรับอากาศชั้นพิเศษ เย็นทั่วโลกเลย”
ผู้ถาม :- “งั้นไม่เอาดีกว่า”
(ถามเรื่องบวงสรวงอย่างเดียว แต่พลอยได้เรื่องธรรมะด้วย โชคดีเลย)
หลวงพ่อตอบปัญหาธรรม ฉบับพิเศษ เล่ม ๕ หน้า ๒๗-๓๖
พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤๅษี วัดท่าซุง)